Support
The I-city
094-9716464,02-0965404
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

nobphon | 13-11-2558 | เปิดดู 8914 | ความคิดเห็น 0

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

 

หนึ่งในเรือพระที่นั่งในกระบวนเรือพระราชพิธีพยุหยาตราชลมารค เป็นเรือพระที่นั่งชั้นเอก สำหรับทรงประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และได้ประกอบพิธีลงน้ำเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2454

 

ประวัติความเป็นมา

มีความจากบทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ฯ ตอนหนึ่งว่า

"สุวรรณหงส์ทรงภู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์

เพียงหงส์ทรงพรหมิน ลินลาสเลื่อนเตือนตาชม"

จากบทเห่เรือดังกล่าว เรือพระสุพรรณหงส์นั้นสร้างขึ้นในครั้งแรกตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในช่วงปี พ.ศ. 2091 ในสมัยนั้นเรียกว่า "สุวรรณหงส์" 

 

ในหนังสือตำนานเรือรบไทยในพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงกล่าวไว้ว่า เรือศรีสุพรรณหงส์สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตามจดหมายเหตุเมื่อปี พ.ศ. 2370 มีหมายรับสั่งให้จัด "เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์" เป็นเรือทรงพระบรมธาตุที่ได้มาจากเวียงจันทร์ ประเทศลาว ความในจดหมายเหตุในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 เรียกชื่อเรือลำนี้ว่า "เรือศรีสุพรรณหงส์" เรือศรีสุพรรณหงส์มีความชำรุดทรุดโทรมเรื่อยมา ได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาหลายครั้ง

 

ช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ต่อเรือขึ้นมาใหม่แทนเรือศรีสุพรรณหงส์ลำเดิมที่ผุพังเกินกว่าจะซ่อมแซมได้ โดยเรือลำใหม่นี้มาเสร็จสมบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์" โดยมีพลตรีพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นนายช่าง ประกอบพิธีลงน้ำเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545

 

โครงสร้างเรือ

นาวาสถาปนิกผู้ออกแบบเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ คือ พลเรือตรีพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) โดยจัดให้เป็นเรือพระที่นั่งกีบ และใช้เป็นเรือทรงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โขนเรือเป็นรูปหงส์ ลงรักปิดทอง พร้อมประดับกระจกภายนอกทาสีดำ ภายในทาสีแดง มีขนาด กว้าง 3.14 เมตร ยาว 44.9 เมตร ลึก 0.9 เมตร ส่วนกินน้ำลึก 0.41 เมตร หนัก 15.1 ตัน กำลัง 3.5 เมตร (พายหนึ่งครั้งแล่นไปได้ไกล 3.5 เมตร)  

 

เครื่องประกอบเรือ

  • พู่ห้อย ปลายหัวเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ทำด้วยขนจามรีนำมาจากประเทศเนปาล ลักษณะขนเป็นสีขาว นุ่มและละเอียด นำมาประกอบเป็นชั้น ๆ เป็นทรงพุ่ม พร้อมทั้งติดชนวนโดยรอบและตกแต่งสวยงาม
  • บัลลังก์กัญญา เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จะทอดบังลังกัญญาเป็นที่ประทับกลางลำเรือพร้อมตกแต่งด้วยผ้าม่าน

 

ลูกเรือ

ใช้ลูกเรือทั้งสิ้น 57 นาย โดยแบ่งเป็นฝีพายจำนวน 50 นาย นายเรือ 2 นาย คนถือธง 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนเห่เรือ 1 นาย และนายท้ายอีก 2 นาย

  • ฝีพายสวมเสื้อสักหลาดสีแดงติดลูกไม้ใบข้าว กางเกงผ้าเสิร์จสีดำ คาดผ้ารัดประคดโหมดเทศดาบฝักไม้ ด้ามไม้กลึง สายสะพายดาบสักหลาดสีแดงติดแถบลูกไม้ สวมหมวกทรงประพาสสักหลาดแดงติดลูกไม้ใบข้าว สวมถุงเท้ายาวสีขาว รองเท้าหนังสีดำ
  • นายเรือสวมหมวกทรงประพาสโหมดเทศยอดเกี้ยว เสื้ออัตลัคสีฟ้า รัดประคด
  • คนธงท้ายเรือแต่งกายด้วยหมวกทรงประพาส โหมดเทศยอดจุก เสื้ออัตลัคสีแดง ผ้าเกี้ยวลาย
  • นายท้ายเรือสวมหมวกทรงประพาส โหมดเทศยอดเกี้ยว เสื้ออัตลัคสีเขียว รัดประคดโหมดเทศ ผ้าเกี้ยวลาย

 

รางวัลที่ได้รับ

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2535 องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักร ให้ความสนใจส่งผู้แทนมาพิจารณามอบรางวัลเรือโลกแก่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ โดยคณะกรรมการองค์การ World Ship Trust ประกอบด้วยนายอีเวนเซาท์บี-เทลยัวร์ ประธานองค์การเรือโลก นายไมเคล ไทแนน นักกฎหมายประจำองค์การเรือโลก และนายเจมส์ ฟอร์ไซธ์ ได้เดินทางมายังประเทศไทย เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญรางวัลเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เหรียญรางวัลมรดกโลกทางทะเลขององค์การเรือโลก ประจำปี พ.ศ.2535 (The World Ship Trust Maritage Heritage Award 'Suphannahong Royal Barge') จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานเหรียญรางวัลดังกล่าวแก่อธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาเรือพระที่นั่ง

 

 

ความคิดเห็น

วันที่: Fri Apr 19 17:03:40 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0

สำรองที่นั่ง Call Now 094-9716464 , 02-047-0022