Support
The I-city
094-9716464,02-0965404
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9

nobphon | 17-11-2558 | เปิดดู 8362 | ความคิดเห็น 0

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9

หนึ่งในเรือพระราชพิธี ในกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งกิ่งใช้สำหรับเป็นเรือทรงประทับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2539 ซึ่งดำเนินการสร้างโดยกองทัพเรือ ร่วมกับ กรมศิลปากร

 

ประวัติความเป็นมา

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ แรกเริ่มนั้นสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งเดิมนั้นมีชื่อเรียกว่า "มงคลสุบรรณ" ส่วนหัวเรือนั้นเป็นรูปครุฑพ่าห์ มีช่องกลมทางด้านหน้าใต้ครุฑสำหรับบรรจุปากกระบอกปืนใหญ่ เรือลำเดิมนั้น มีความยาว 17 วา 3 ศอก กว้าง 5 ศอก 5 นิ้ว ลึก 1 ศอก 6 นิ้ว พาย 1 ครั้งแล่นไปได้ไกล 6 ศอก 6 นิ้ว บริเวณท้องเรือภายนอกทาสีแดง ใช้ฝีพายจำนวน 65 นาย

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงมีพระราชดำริให้สร้างเทวรูปพระนารายณ์ทรงยืนประทับบนหลังพญาสุบรรณ เพื่อให้เกิดความสง่างามของลำเรือ และให้เป็นไปตามคติในศาสนาพราหมณ์ เทวรูปพระนารายณ์ที่สร้างขึ้นนั้นสร้างขึ้นด้วยไม้จำหลัก ปิดทองประดับกระจก องค์พระนารายณ์ทรงเครื่องภูษิตา ภรณ์และมงกุฎยอดชัยพระพักตร์และพระวรกายประดับกระจกสีน้ำเงินเข้ม มี 4 พระกร ทรงเทพศาสตรา อันได้แก่ ตรี คทา จักร สังข์ ตามคติพราหมณ์ ปรากฎในบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ตอนกุมภกรรณต้องศรพระราม ดังความว่า

 

" แลเห็นพระองค์ทรงลักษณ์ ผ่องพักตร์จำรัสรัศมี

สีเขียวดั่งนิลมณี มีกายปรากฎเป็นสี่กร

ทรงเทพอาวุธจักร สังข์ ทั้งตรี คทา ศิลป์ศร

จึงรู้ว่านารายณ์ฤทธิรอน จากเกษียรสาครเสด็จมา "

 

แล้วขนานนามเรือดังกล่าวว่า "เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ" ซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเนื่องจากมีสภาพเสื่อมโทรมลงไปมาก

 

ต่อมาในปี พ.ศ.2539 ทางกองทัพเรือ ธ.ไทยพาณิชย์ กรมอู่ทหารเรือ และกรมศิลปากร ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อสร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายในวโรกาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติปีที่ 50 ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้าง พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระม่อม พระราชทานชื่อเรือว่า "เรือพระที่นั่ง นารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 " โดยมีฐานะเป็นเรือพระที่นั่งรองทอดบัลลังก์กัญญา

 

ลักษณะลำเรือ

โขนเรือสร้างจากไม้สักทอง ลงรักปิดทองประดับกระจก จำหลักรูปพระนารายณ์ 4 กร ทรงเทพศาสตรา ตรี คทา จักร สังข์ ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์ และมงกุฎยอดชัย ประทับยืนบนหลังพญาครุฑ ลวดลายบริเวณส่วนหัวเรือมีลักษณะเป็นก้านขดใบเทศมีครุฑประกอบที่ตัวก้านขด

ท้ายเรือ มีลักษณะคล้ายท้ายเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช แต่ส่วนเหนือมาลัยท้ายเรือ เป็นสร้อยหางครุฑ ปลายหางสุดของท้ายเรือเป็นกนกหางครุฑ ท้องลายของท่อนหางเป็นขนครุฑ

ส่วนตัวเรือ ทำจากไม้ตะเคียนทอง แกะสลัก ลงรัก ปิดทอง ประดับกระจกตลอดทั้งลำเรือ มีลวดลายเป็นลายพุดตาน สีพื้นเรือหรือสีท้องเรือเป็นสีแดงชาด ใช้ตัวบัลลังก์กัญญาเรือ เช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป้นลวดลายแกะสลัก ลงรัก ประดับกระจก

แผงพนักพิง แกะสลักลวดลาย เป็นรูปครุฑยุดนาค ลงรักปิดทองประดับกระจก ภายในนั้นเป้นเช่นเดียนวกับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ลูกแก้วรับขื่อ เป็นไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง ประดับกระจก เสาทั้งสองต้นทาสีดำ

พายกับฉากกั้น ลงรักปิดทอง วางฉัตร เว้นระยะห่าง 2 กระทง ต่อ 1 ฉัตร ผ้าดาดหลังคากัญญาเรือ เป็นทองแผ่ลวด ลายโคมแย่ง ลงรักปิดทอง ประดับกระจก พื้นแดงลายจั่ว และลายผ้าม่านโดยรอบ ประดับด้วยทองแผ่ลวด

ขนาดของลำเรือ มีความยาว 44.3 เมตร ความยาวแนวน้ำหนักบรรทุกเต็มที่ 34.6 เมตร กว้าง 3.2 เมตร ลึก 1.1 เมตร ส่วนที่กินน้ำลึก 0.4 เมตร  ระวางขับน้ำบรรทุกเต็มที่ 20 ตัน ใช้ฝีพาย 50 นาย ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 11.9 ล้านบาท

 

การแต่งกายเจ้าพนักงานและฝีพายประจำเรือ

มีปรากฎในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ตอนที่ว่าด้วยการ เสด็จเลียบพระนครทางชลมารค ในปีพ.ศ.2394 ดังนี้

" เรือมงคลสุบรรณ เรือศรีสุพรรณหงส์ นักสราชถือธงหักทองขวางหน้าเรือท้ายเรือ มีกลองชนะทำด้วยเงินลำละ 5 คน เจ้าพนกงานเป็นนายกำกับลำ นุ่งปูมสวมเสื้อเข้มขาบโพกขลิบทอง ฝีพายลำละ 65 คน ฝีพายใส่เสื้อสักหลาดขลิบโหมด หมวกกลีบลำดวน กางเกงมีกรวยเชิงใช้พายทอง "

 

ความคิดเห็น

วันที่: Fri Apr 19 15:03:21 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0

สำรองที่นั่ง Call Now 094-9716464 , 02-047-0022